ปัญหาเรื่อง Timing ที่เหมือนง่าย แต่ยาก และเหมือนยากแต่ง่าย


ปัญหาเรื่อง Timing ที่เหมือนง่าย แต่ยาก และเหมือนยากแต่ง่าย

ก่อนอื่นขอกล่าวขอบคุณหลาย ๆ คนที่ผมเคยได้รับคำปรึกษา แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ล้วนแล้วแต่มีผลกับความเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น
ครูอ๋อยที่สอนแบบไ่ม่มีกั๊ก
โจโจ้ (ญาณพล) ที่ให้คำตอบสำหรับมือสมัครเล่นอย่างผมได้เสมอ
โจ้ โค๊ชนาโน ที่ให้คำแนะนำดี ๆ
คุณจั๊มที่เป็นคนทักประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของบอล และจังหวะการเดิน
YouTube ที่มีอะไรให้ดูเป็นตัวอย่างมากมาย

เข้าเรื่องสักทีครับ ประเด็นเรื่อง Timing การโยนโบว์ลิ่ง ตอนที่ผมไม่เข้าใจว่า Timing ที่ถูกต้องคืออะไรนั้น ก็เรียกได้ว่าแก้ไขไปเรื่อย เหมือนว่ามันไม่รู้ว่าจะต้องแก้ จะต้องปรับอย่างไร รู้แค่ว่ามันไม่ใช่ (แล้วไอที่ใช่มันคืออะไร)

แนวทางการแก้ไขและฝึกหัดสำหรับผมส่วนใหญ่ คือ
แอบดูคนอื่นเขา ไม่ว่าจะดูจากของจริง ดูจาก YouTube ก็ตาม แล้วนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นของตัวเอง และจากนั้นจะทำการถ่ายวีดีโอ เพื่อนำมาเปรียบเทียบ แต่ทีนี้ ตอนที่เราถ่ายมาและเปรียบเทียบนั้น ผมพลาดอย่างแรง เนื่องจาก ผมไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ควรจะต้อง สังเกตุ หรือที่ต้องเปรียบเทียบนั้นจริง ๆ แล้วมันคือจุดไหน อะไรอย่างไรกันแน่ แค่คิดว่า เปิดวีดีโอ เทียบกัน สองวีดีโอ ถ้าฟอร์มมัน ใกล้เคียง แสดงว่าโอเค ซึ่งนั้นเป็นความผิดพลาดอย่างแรง เพราะจังหวะ ของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน แต่จังหวะที่ถูกต้อง และความสัมพันธ์ของการโยนโบว์ลิ่ง ระหว่าง ร่างกาย กับลูกโบว์ลิ่งนั้น มันมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของมันอยู่ เพียงแต่ว่าเราจะเข้าใจและหาเจอได้หรือไม่

ส่วนตัวผมเองนั้น เคยเสีย Timing ที่เหมาะสมกับตัวเอง ไปเมื่อตอนที่พยายามปรับเรื่อง วงสวิง และ การปล่อยบอล ไม่รู้อีท่าไหน ฝึกไปฝึกมา เจ๊งหมดเลย ทั้ง Timing ทั้ง การปล่อยบอล เพราะโบว์ลิ่ง สำคัญที่สุด และเป็นตัวแปรที่ส่งผลไปสู่เรื่องการ ปล่อยบอล วงสวิง ทั้งหมดนั้นคือ Timing จริง

ทีนี้เรามาเข้าถึงหลักสำคัญที่ผม ค้นพบ และพิสูจน์ทราบ โดยตนเอง จากคำบอกกล่าว ขี้นำของคนรอบข้าง ดังนี้

จุดที่เราต้องให้ความสำคัญที่สุดในเรื่องของ Timing ถ้าเราอยากรู้ว่า Timing เราถูกหรือผิด คือ … Feeling (ความรู้สึก) ถ้าทุกอย่างมันถูกต้อง และสัมพันธ์กัน ความรู้สึก ตั้งแต่ก้าวแรง จนสไลด์ และปล่อยบอล มันจะเบาสบาย ไม่รู้สึกว่าบอลหนัก หรือ ดึง ตรงจังหวะใด จังหวะหนึ่งเลยทั้งสิ้น ซึ่งแบบนี้ ศัพท์โบว์ลิ่งเขาเรียกว่า “ให้บอลพาเดิน” สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ บอล และ ร่างกาย สัมพันธ์กัน และส่งต่อกันไปแบบก้าวต่อก้าว ซึ่งอันนี้ขอพูดแค่จุดที่สำคัญ ๆ คร่าวๆ ดังนี้

สำหรับคนโยน 5 ก้าว ด้วยมือ ขวา นะครับ
จุดที่ 1 คือ ก้าวแรก จะเป็นการก้าวขาซ้ายไปข้างหน้าพอประมาณ ถ้าถามว่า สั้นหรือยาว ผมใช้ความรู้สึกว่า เอาแบบ พอดี ๆ เพื่อสร้างจังหวะไปสู่ก้าวต่อไป
จุดที่ 2 คือ ก้าวที่สอง เราจะดันบอลลงไปข้างหน้า เพื่อสร้างให้เกิด แรงสวิง
จุดที่ 3 คือ ก้าวที่ 3 จังหวะที่ต้องจับให้ได้ตรงก้าวที่สามคือ ขาข้าง ซ้าย มันจะส่วนกับมือข้างขวาในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน คือ ขาซ้าย จะก้าวขึ้นมา ส่วนมือขวาจะแกว่งไปข้างหลัง และตรงนี้ จะก้มตัวไปข้างหน้านิดหนึ่งเพื่อสร้าง Momentum ให้กับลูกโบว์ลิ่ง
จุดที่ 4 คือ ก้าวที่ 4 ตรงนี้ สำคัญมาก ๆ เพราะไอ้ที่พูดมาทั้งหมด ถ้า 1 2 3 มันอาจจะไม่ได้ตามนั้นเป๊ะ ๆ เพราะร่างกาย แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน แต่ตรงนี้ ต้องมาจบที่เดียวกันทั้งสิ้น คือ จังหวะตอนที่ก้าวเท้าขวาลงพื้น นั้นลูกโบว์ลิ่งจะต้องอยู่บนจุดสูงสุดของวงสวิง ถ้าหากว่าจุดนี้ไม่เป็นตามนี้ จะส่งผลให้สมดุลร่างกายเสียทันที สิ่งที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากที่จังหวะนี้พลาดคือ บอลเริ่มตกลงมาจากจุดสูงสุด ก่อนที่เราจะก้าวขวาลงพื้น (Early Timing) และอีกอย่างคือ บอลยังขึ้นไปไม่สุด แต่ก้าวขวา เราลงพื้นแล้ว (Late Timing) ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้ ส่วนตัวผมโยนแบบ Early Timing มาเกือบ ปี โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาเรื่อง Timing ซึ่งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ขาขวา ตรงส่วนของกล้ามเนื้อหน้าแข้ง ซึ่งก็คิดว่าเราร่างกายอ่อนแอเองหรือป่าว ? พยายามออกกำลังกายเพื่อเสริมกล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้บาดเจ็บอยู่ตั้งนาน แต่ก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายตอนนี้ถึงเข้าใจว่าเกิดจากความผิดพลาดของเรื่อง Timing นี่เอง
จุดที่ 5 คือ การสไลด์ ก้าวที่ 5 ซึ่งตรงนี้จังหวะตอนดาวน์สวิงลงมา พร้อมกับ สไลด์ขาเพื่อ Landing บอลจะหลุดไปแบบมีพลัง จากวงสวิงที่เราสร้างขึ้น ไม่ใช่ แรงที่เราใส่เข้าไป

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องหาว่าจังหวะไหนที่เหมาะสมกับเรา และจดจำความรู้สึก เบาสบาย ทุกย่างก้าวให้ได้ รับรองว่าคุณจะโยน โบว์ลิ่งได้สนุกขึ้นอีกเป็นกอง

ผมไม่ใช่คนเก่่ง แต่ผมชอบแบ่งปัน

Comments
  1. Jirayut Tedsaderug

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *